หน้าเว็บ

ลูกเป้ง



                                           ลูกเป้งหงษ์                                  ลูกเป้งมอม

 ลูกเป้ง คือ ลูกชั่งน้ำหนักของพม่า ไม่ว่าจะเป็นฝิ่น ยา อาหาร ฯลฯ ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ใช้คู่กับตราชั่งที่มีจานวางทั้ง2ด้าน หรือที่เรียกว่า ตราชู ลูกเป้งนั้นทำจากโลหะสำริด พม่านั้นมีการใช้ระบบการชั่งน้ำหนักแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัย พะโค พุกาม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ส่วนรูปสัตว์ต่างๆที่นิยมเอามาทำเป็นรูปทรงของลูกเป้งนั้น จะเป็นรูปพราหมณี รูปสัตว์ประจำวันประสูติหรือรูปสัตว์ประจำปีเกิดของกษัตริย์ และสัตว์ที่เป็นตำนานหรือเป็นศิริมงคล เหตุที่ใช้เป็นรูปสัตว์นั้น ก็เพื่อที่ผู้ที่ซื้อไปใช้จะได้พบกับสิ่งดีและเป็นมงคลแก่ตน แต่ลูกเป้งไม่ได้ใช้แค่ในพม่าเท่านั้น ในล้านนาและล้านช้างก็รับระบบการชั่งแบบนี้มาใช้เหมือนกัน

                                                                   ลูกเป้งเป็ดหลับ

นักประวัติศาสตร์พม่าชื่อ U Maung Maung Tin ได้ค้นพบคัมภีร์ใบลานสมัยพระเจ้า อะลองพระญา(1752 - 1760 A.D.) ในคัมภีร์ใบลานนั้นได้บันทึกรูปทรงและปีที่ใช้ลูกเป้งนั้นๆ ตั้งแต่สมัย Pinya - Ava (13 -14 A.D.)จนถึงสมัยพระองค์ มีดังนี้ ไก่ นกกระสา ม้าแคะหรือกวาง ช้าง แพะ นกหัสดีลิง หงษ์ หมี นกสาริกา สิงห์ ม้ามีหงอนและวัวมีหงอน
รูปแบบลูกเป้งนั้นกษัตริย์จะเป็นคนกำหนดรูปทรงของลูกเป้งว่าในยุคสมัยนั้นจะใช้เป็นรูปอะไร ส่วนลูกเป้งที่อยู่นอกเหนือจากรายละเอียดในใบลานนั้น คาดว่าเกิดขึ้นจากความคิดและการจินตนาการของช่างผู้ทำลูกเป้ง เช่น เต่า แมงมุม ฯลฯ


                                                                     แม่พิมพ์ขี้ผึ้ง


                                                                        หล่อลูกเป้ง
วิธีการทำลูกเป้ง
ลูกเป้งนั้นบางครั้งเราอาจพบเห็นเจอเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเช่น ส่วนที่เป็นรูปสัตว์ หรือเจอเฉพาะส่วนฐาน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ตัวลูกเป้งแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูปสัตว์ และส่วนที่เป็นฐาน นำมารวมกันเป็นชิ้นเดียวกัน ลูกเป้งมีวิธีการทำจะคล้ายๆกับกับการหล่อพระ คือใช้วิธีการหล่อแบบขี้ผึ้ง แต่ต่างกันนิดหน่อยตรงที่ลูกเป้งนั้น จะมีแม่พิมพ์ที่ทำจากตะกั่ว แม่พิมพ์นี้เอาไว้สำหรับทำแบบขี้ผึ้ง ทั้งตัวฐานและรูปสัตว์ต่างๆ พอได้ลูกเป้งที่ทำจากขี้ผึ้งแล้วก็เอาดินเหนียวไปพอกแล้วนำไปเผาไฟ เสร็จแล้วจึงเทโลหะใส่ในแบบ ดังนั้นเราจะสังเกตุเห็นว่าลูกเป้งนั้นจะมีรูปทรงโดยรวมเหมือนๆกันแต่จะต่างกันที่ลวดลายบนตัวของลูกเป้งเท่านั้น ส่วนลวดลายที่อยู่บนตัวลูกเป้งก็เกิดจากการจิรตนาการของช่างว่าจะทำลวดลายแบบไหนและตรงส่วนใดบ้าง

                                                                   ลูกเป้งสิง ยุคแรกๆ
                                                             ร้านค้าที่เชียงตุง 2552

ปัจจุบันในรัฐฉานประเทศพม่า ที่จังหวัดเชียงตุงก็ยังใช้ลูกเป้งที่รูปสัตว์กันอยู่ ใช้ในการขายของทุกประเภทที่ต้องขายเป็นน้ำหนัก แต่ที่เห็นใช้กันเยอะจะเป็นลูกเป้งสิงฐาน4เหลี่ยม และในรูปนี้เป็นรูปพ่อค้าร้านขายเครื่องเงินกำลังชั่งน้ำหนักเชือกเพื่อขายให้กับลูกค้า สังเกตุที่ตราชั่งใช้ที่ชั่งน้ำหนักเป็นรูปหงษ์ฐานเหลี่ยมส่วนด้านล่างในตู้เป็นลูกเป้งที่พ่อค้าจะขายยกชุดให้กับนักท่องเที่ยวและนักสะสม ถ่ายที่กาดหลวงเมืองเชียงตุง เดือนมีนาคม 2552
ลูกเป้งเป็นที่นิยมสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรบจะชื่นชอบเป็นพิเศษ ลูกเป้งที่เราพบตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 200 แบบ ทุกวันนี้ลูกเป้งยิ่งหายากขึ้นไปทุกที ยิ่งทำให้ราคาของมันสูงขึ้นมากกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะลูกเป้งที่หายากหรือมีรูปทรงแปลก  จึงทำให้มีพวกพ่อค้าหัวใสมีการทำของเลียนแบบมาขายให้กับนักสะสม



                                                                     ลูกเป้งหงษ์